เมื่อกล่าวถึงผู้ที่มีคุณูปการกับวงการผ้าไหมไทย นำผ้าไหมโบราณก้าวล้ำสู่ยุคสมัยใหม่ ต้องนึกถึงพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งทรงเลือกฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมไทยในโอกาสสำคัญๆ ต่างๆ เมื่อตามเสด็จฯ สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยในปี พ.ศ. 2508 ได้รับการจารึกพระนามาภิไธยในหอเกียรติคุณ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่าเป็น 1 ใน 12 สตรีที่เลือกสวมใส่เครื่องแต่งกายได้สวยงามที่สุดในโลก

ประวัติผ้าไหมไทย ก่อนจะมาเป็นโครงการศูนย์ศิลปาชีพ

ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ครั้งแรกหลังขึ้นครองราชย์​ในปี พ.ศ. 2503 และครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2510 และได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ก็ทรงตามเสด็จฯ ด้วย 

การเสด็จพระราชดำเนินเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ย่อมเป็นที่จับตามองของชาวต่างประเทศ พระราชินีฯ ทรงใส่ใจเครื่องแต่งกายตามหมายกำหนดการเพื่อให้เข้ากับเข้ากับขนบธรรมเนียมของประเทศที่เสด็จฯ เยือน

ยุคสมัยนั้น เมืองแห่งแฟชั่นที่ล้ำสมัยคือปารีส แบรนด์ที่โด่งดังคือ คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) และ YSL (Yves Saint Laurent) ซึ่งพระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเคยเลือกสวมใส่เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งแรกๆ

ความสำคัญของการทรงฉลองพระองค์ให้เข้ากับหมายกำหนดการ ก็เพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และเข้ากับพระราชกรณียกิจที่ต้องเจริญสัมพันธไมตรีกับแต่ละประเทศ สมเด็จพระราชินีทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดเตรียมเครื่องพัสตราภรณ์ และในสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีเครื่องแต่งกายประจำชาติ จึงทรงเชิญผู้ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับด้านเครื่องแต่งกายมาศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ในการโดยเสด็จฯ 

ปิแอร์ บัลแมง ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับ Dior และ YSL
ปิแอร์ บัลแมง ดีไซน์เนอร์ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับ Dior และ YSL

ขณะที่พระองค์กำลังศึกษาข้อมูลเครื่องแต่งกายให้เข้ากับแบบสากล นายปิแอร์ บัลแมง ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับ Dior และ YSL อย่างใกล้ชิด ได้พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ พอดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาเป็นที่ปรึกษา ตัดเย็บฉลองพระองค์เพื่อใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 2 และการเสด็จยุโรปในครั้งต่อๆ มา ภายหลังนายบัลแมงก็ได้มาเป็นที่ปรึกษา และร่วมทำฉลองพระองค์ถึง 22 ปี 

ฉลองพระองค์มีเฟอร์คลุม เข้ากับสภาพอากาศประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน

นอกจากการดูแลเรื่องฉลองพระองค์แล้ว นายบัลแมงยังเลือกนักออกแบบเกศาชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังในยุคนั้น คือ Alexandre ให้เหมาะสมกับพระพักตร์ และแต่งพระองค์ให้เข้ากับฉลองพระองค์ต่างๆ ภายหลังผู้ที่มาถวายงานสไตลิสต์นี้คือ คุณวรรณี ยรรยง เจ้าของร้านทําผม คลังแม่บ้าน ได้เข้ามาถวายงานเป็นช่างพระเกศาจนถึง พ.ศ. 2547

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ประทับร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงแอนน์ แห่งสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงนำผ้าโบราณสีทอง ของสมเด็จพระพันวสามาตัดเย็บฉลองพระองค์ ซึ่งสวยงามมากทีเดียว

ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าโบราณของสมเด็จพระพันวสาฯ

ภายหลังสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย และได้มีชาวบ้าน นำผ้าไทยทอมือมาถวาย พระองค์ได้ทอดพระเนตรลวดลายต่างๆ บนผ้า และได้ศึกษาอนุรักษ์ไว้ เกิดเป็น “มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ส่งเสริมงานหัตถกรรมของชาวบ้าน ทั้งการทอผ้า และหัตถศิลป์ต่างๆ

ประวัติผ้าไหมไทยที่ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาจนสร้างชื่อ สร้างอาชีพให้กับกลุ่มชาวบ้าน คือ ผ้าไหมแพรวา เอกลักษณ์ของชาวภูไท ซึ่งได้มีชาวบ้านนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระนางเจ้าสิริกิติ์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี พ.ศ. 2520 ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านนำมานุ่งห่มแบบสไบเฉียง ทรงสนพระทัยมาก จึงโปรดให้สนับสนุน และพระราชดำริให้ทอขยายหน้าผ้าให้กว้างขึ้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ปัจจุบันเป็นผ้าที่ยังคงใช้กันอยู่แพร่หลาย มีราคาสูง และคงความสวยงามตามเอกลักษณ์ของชาวภูไท

การก่อตั้ง มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทำให้ชาวบ้านสตรี ผู้มีฝีมือในงานหัตถศิลป์ ได้มีรายได้ ได้พัฒนาทักษะอาชีพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ในหลายจังหวัดได้กลายเป็นสินค้าของฝากขึ้นชื่อ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวชาวบ้าน โดยเฉพาะงานผ้าไทยได้เกิดการอนุรักษ์ลายผ้าไทยต่างๆ ให้คงอยู่ และพัฒนาลายให้เป็นที่ต้องการของท้องตลาดมากขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันฉลองพระองค์กว่า 30 ชุด ได้จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร และชุดอื่นๆ ที่มีอายุยาวนานก็ได้เก็บรักษาบรรจุในกล่องพิเศษจัดจำโดย SCG เพื่อรักษาสภาพของเนื้อผ้าไว้ 

ผู้สนใจสามารถเข้าพิพิธภัณฑ์ผ้าออนไลน์ได้ที่ : ราชพัสตราจากผ้าไทย  http://www.qsmtthailand.org

ที่ตั้ง : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร 

ค่าเข้าชม :  ผู้ใหญ่ 150 บาท, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 80 บาท, เด็กนักเรียนมีบัตรประจำตัว 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าฟรี 

ที่มา : 

  • 1. รวมฉลองพระองค์ชุดไอคอนิก ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9., Vouge Thailand., https://www.vogue.co.th/celebrity/article/queensirikitsiconicdresses
  • 2. งามสมบรมราชินีนาถ นิทรรศการแสดงฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ., หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ., https://pantip.com/topic/35427903
  • 3. ฉลองพระองค์ชุดราตรี 9 องค์ใหม่ “งามสมบรมราชินีนาถ”., เว็บไซต์ผู้จัดการ (31 ม.ค. 2561) ., https://mgronline.com/celebonline/detail/9610000009998
  • 4. ผ้าแพรวา.,สารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม กรมหม่อนไหม.,https://qsds.go.th

Read More :

Leave a comment

Trending