ผ้าไหมไทยมีเนื้อผ้าที่มีเสน่ห์ และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานควบคู่กับการก่อตั้งเมืองต่างๆ โดยชาวบ้านที่อพยพมาจากต่างถิ่น และได้นำวัฒนธรรมการทอผ้าไหมที่สวยงามมาผลิตใช้กันในชุมชน ผ้าไหมบางลวดลายสวมใส่เฉพาะในเรือนผู้มีฐานะ และผ้าไหมของชาวบ้านทั่วไปสวมใส่ในวันพิเศษ อาทิ งานบุญ งานพิธีกรรมทางศาสนา จึงถือได้ว่าผ้าไหมเป็นผ้าที่อยู่คู่วัฒนธรรมคนไทยมาอย่างยาวนาน วันนี้ Mycontent-thai.com นำเรื่องราวของผ้าไหม มาเรียบเรียงให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ผ้าชนิดนี้ไปพร้อมๆ กันครับ 

ผ้าไหมไทยแท้ มีประวัติ และที่มาอย่างไร

การสวมใส่ผ้าไหมในไทยนั้นมีบันทึกไว้ตั้งแต่เป็นอาณาจักรโบราณ จนมาถึงราชสำนักสยามปัจจุบัน ผ้าไหมนี้สวมใส่ได้ทั้งบุรุษ และสตรี ผ้าไหมถูกยกให้เป็นผ้าที่มีคุณค่า สมัยก่อนลวดลายและชนิดของผ้า บ่งบอกยศฐาบรรดาศักดิ์ของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย

การทอผ้าไหมในประเทศไทยนั้นได้รับการสืบทอดความรู้มาจากคนรุ่นก่อน ตั้งแต่ขั้นตอนกรรมวิธีการเลี้ยงไหม ไปจนถึงการสาวไหม และการทอ โดยแต่ละท้องถิ่นมีลวดลายที่แตกต่างกัน การทอผ้าในอดีตมีไว้ใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงใช้ในงานพิธีต่างๆ 

นอกจากการทอผ้าเพื่อใช้ในท้องถิ่นแล้ว สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ก็มีการค้าขายซื้อผ้าลวดลายแปลกใหม่มาก ถือเป็นการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงโปรดเกล้าให้ริเริ่ม ฟื้นฟูส่งเสริมการเลี้ยงใหม่ในปี พ.ศ. 2452 เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมการเลี้ยงไหมและทอผ้า และสถาปนากรมช่างไหมขึ้น ตั้งโรงเรียนช่างไหมที่วังสระปทุม ต่อมาได้ขยายสาขาไปที่จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทรงจ้างครูญี่ปุ่นมาสอนชาวบ้าน ต่อมาการส่งเสริมได้ผลไม่คุ้มทุน จึงเลิกจ้างชาวญี่ปุ่น และชาวบ้านได้กลับมาทอด้วยกรรมวิธีพื้นบ้าน (อ้างอิง. ภูมิปัญญาด้านผ้าและการแต่งกาย)

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้าไหมไทย

การทอผ้าไหมเป็นวิธีผลิตผ้าด้วยมือที่มีขั้นตอนซับซ้อน กว่าจะได้มาแต่ละผืน จึงใช้เวลานานมาก บางผืนใช้เวลาทอหลายเดือน จึงทำให้ผ้าไหมไทยมีราคาแพง มาดูกันว่าการทอผ้าไหมสวยๆใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

1. เส้นไหม

การทอผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาในครอบครัว และชุมชน ดังนั้นกระบวนการทอผ้าไหมเริ่มแรกก็มาจากการเลี้ยงไหม รวมไปถึงการควบคุมโรค เพื่อให้หนอนไหมสร้างเส้นไหมคุณภาพดี มีเนื้อสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น

2. อัก

อักเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ม้วนเส้นไหม ปั่นไหม ใส่หลอดไหมเพื่อทอผ้าไหม

3. กี่

กี่ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้าไหม

4. ฟีมทอผ้า

ฟีมทอผ้า ใช้สำหรับกระทบเส้นยืนกันเส้นพุ่ง ให้เนื้อผ้าเท่ากัน

5. ไม้พับหัวม้วน

ไม้พับหัวม้วน ใช้ดึงเส้นไหมออกจากเส้นยืน ให้เส้นไหมแน่น

6. ไมัเหยียบหูก

ไม้เหยียบหูก ใช้เหยียบรางเส้นไหมขึ้นลง เพื่อสอดกระสวยทอเส้นไหม

7. กระสวย

กระสวย ใช้บรรจุเส้นไหม สำหรับทอผ้าไหม

ผ้าไหมไทย มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ผ้าไหมสวยๆ ที่พบการทอในประเทศไทย พบได้หลายจังหวัด โดยกรมหม่อนไหม ได้เผยแพร่ประเภทของผ้าไหมไทยที่พบในจังหวัดต่างๆ ดังนี้

ผ้าไหมไทย ภาคเหนือ

1. ผ้าจกแม่แจ่ม

2. ผ้าจกเมืองลอง

3. ผ้ายกมุกลับแล

4. ผ้าไหมยกดอกลำพูน

5. ซิ่นเมืองน่าน

ผ้าไหมไทย ภาคอีสาน

1. ผ้าโฮล
2. ผ้าหางกระรอก

3. ผ้าอัมปรม 

4. ผ้าละเบิก 

5. ซิ่นทิว 

6. ผ้าไหมลายสาเกต

7. ผ้ากาบบัว

8. ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท

9. ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ

10. ผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง

11. ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา

12. ผ้าไหมมัดหมี่ลายหมี่คั่นขอนารี

13. ผ้าแพรวา

14. ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก

15. ผ้าสะมอ

16. ผ้าอันลูนซึม

17. ผ้าขิด

ผ้าไหมไทย ภาคกลาง

1. ผ้ายกมุกไทยวน จังหวัดสระบุรี

2. ผ้าจกไทยวน จังหวัดราชบุรี

ผ้าไหมไทย ภาคใต้

1. ผ้าจวนตานี

2. ผ้าพุมเรียง

3. ผ้ายกเมืองนคร

4. ผ้าทอนาหมื่นศรี

ผ้าไหมจังหวัดไหนดีที่สุด

ผ้าไหมในประเทศไทยนั้นมีการทอใช้กันในครัวเรือนมานับร้อยปี หากจะเปรียบเทียบว่าผ้าไหมจังหวัดไหนดีสุด ก็ต้องเลือกสะสมกันจากหลายที่เลยทีเดียว มาดูกันว่าผ้าไหมขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัดคือผ้าไหมชนิดใด

1. ผ้าโฮล ผ้ามัดหมี่ หรือผ้าไหมสุรินทร์

ผ้าไหมสุรินทร์มีชื่อเสียงด้านงานมัดหมี่ เรียกผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมอัมปรม และผ้าโฮล เป็นผ้าที่มีประวัติมาจากชาติพันธุ์ชาวเขมร สร้างลวดลายจากการมัดย้อมเส้นไหม และนำมาทอ โดยใช้ส่วนที่ดีที่สุดของเส้นไหม ทำให้ผ้ามีน้ำหนักเบา นุ่งสบาย พริ้วไปกับร่างกายของผู้สวมใส่ คนสมัยก่อนใช้นุ่งเป็นโจงกระเบน และใช้เป็นผ้าในพระราชสำนักสยาม พระราชทานให้แก่ข้าราชบริพารตามยศ

2. ผ้าอัมปรม จังหวัดสุรินทร์ 

ผ้าอัมปรม พบการทอในจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ เป็นผ้าที่สืบทอดการทอมัดหมี่มาหลายชั่วอายุคน เป็นวิธีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่ง และเส้นยืน คาดว่าได้รับวัฒนธรรมการทอถ่ายทอดมาจากทางฮินดูเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว ลักษณะการทอเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ และมัดย้อมไหมให้เป้นจุดประสีขาว คล้ายเครื่องหมายกากบาท ผ้าอัมปรมใช้เป็นผ้าที่สวมใส่ในโอกาสพิเศษ งานบุญ งานสงกรานต์ เป็นต้น

3. ผ้ามัดหมี่ตีนแดง จ.บุรีรัมย์

ผ้ามัดหมี่ตีนแดง หรือ ซิ่นหัวแดงตีนแดง มีประวัติที่มาอันยาวนานกว่า 200 ปี เป็นผ้าไหมประจำอำเภอพุทไธสง และอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีประวัติทอขึ้นครั้งแรกในสมัยพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของพุทไธสง ใช้สวมใส่ในจวนของเจ้าเมือง และต่อมาก็เป็นที่นิยมสำหรับสวมใส่ในงานพิธีกรรมศาสนา งานบุญประเพณี งานพิธีสำคัญๆ 

4. ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท จังหวัดขอนแก่น

ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นผ้าไหมที่มีประวัติศาสตร์บันทึกไว้อย่างชัดเจน และยาวนานกว่า 200 ปี โดยมีบันทึกผ้าไหมหน้านาง ที่เจ้าเมืองชนบท ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) 

ประวัติของผ้าไหมชนบท ตั้งตามชื่อของเมือง ปัจจุบันมีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น เมืองชนบทสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2326 โดยผู้นำชื่อกวนเมืองแสน สมุหกลาโหมแห่งเมืองสุวรรณภูมิ ประเทศลาว พากันมาก่อตั้งเมืองที่บ้านหนองกองแก้ว คาดว่าชาวเมืองได้นำความรู้เกี่ยวกับวิธีการทอผ้ามาด้วย  

ลวดลายบนผ้าไหมชนบทดั้งเดิมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ลายกง ลายโคม ลายหมากจับ ลายปลาซิว ลายดอกแก้วน้อย ลายดั้งเดิมลายขนาดกลาง ได้แก่ ลายแมงมุม ลายกนกเชิงเทียน ลายขอพระเทพ ลายขันหมากเบ็ง ลายต้นสน ลายขาเปียน้อย ลายตำลึงเครือ ลายดั้งเดิมลายใหญ่ ได้แก่ ลายนาคเกี้ยว ลายขอเกี้ยว ลายสำเภาหลงเกาะ ลายต้นสนใหญ่ ลายนกยูง เป็นต้น

5. ผ้าไหมหางกระรอก จ.นครราชสีมา

ผ้าไหมหางกระรอก พบการทอในแถบอีสานตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และพบในภาคใต้คือจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ชายนุ่งเป็นผ้าโสร่ง เรียกว่าผ้า โฮลเปราะห์ และผู้หญิงนุ่งเป็นผ้าซิ่น เรียกว่า โฮลแสร็ย ปัจจุบันเนื่องจากการสวมใส่เสื้อผ้าของบุรุษนิยมสวมใส่กางเกงเพื่อความคล่องตัวมากกว่า คำว่าผ้าโฮลที่เรียกกันในทุกวันนี้จึงมักหมายถึงผ้าโฮลแสร็ยสำหรับสุภาพสตรี เทคนิคการทอผ้าไหมหางกระรอกนี้ ถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวไทเชื้อสายเขมร คนสมัยก่อนนุ่งเป็นโจงกระเบนในพิธีกรรมสำคัญๆ ปัจจุบันนิยมดัดแปลงเป็นเสื้อผ้า ผ้าพันคอ ผ้าห่ม

6. ผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารี จังหวัดชัยภูมิ

ผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารี เป็นผ้าลายโบราณประจำจังหวัดชัยภูมิ คาดว่ามีการทอผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารีมาตั้งแต่สมัยพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ ได้อพยพชาวเมืองเวียงจันทร์ส่วนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองชัยภูมิ และได้ส่งผ้าไหมเป็นเครื่องบรรณาการมายังกรุงเทพ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีการศึกษาผ้าชัยภูมิลายโบราณ พบกว่า 539 ลาย บางผืนมีอายุกว่า 200 ปีทีเดียว

7. ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา จังหวัดมุกดาหาร

ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา เป็นผ้าไหมลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดมุกดาหาร ชาวบ้านนิยมสวมใส่กันในงานบุญ งานบวช และใช้ได้ทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นทำสวน ทำไร่ ลักษณะพิเศษของลายแก้วมุกดา เป็นผ้ามัดหมี่ที่มี 5 สี คือ สีฟ้า, สีเหลืองเข้ม, สีน้ำเงิน, สีขาว และสีบานเย็น 

8. ผ้ากาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี

ผ้ากาบบัว ได้รับการประกาศเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 25 เมษายน 2543 ถือว่ามีลวดลายการทอแบบโบราณ และได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ผ้ากาบบัวแบบมีจก เป็นผ้าของสตรีชั้นสูงของคนสมัยก่อน และผ้าลายกาบบัวยังเป็นลายบนสไบ โสร่ง ผ้าห่ม ผ้าเบี่ยง อีกด้วย 

9. ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก จังหวัดมหาสารคาม

ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก เป็นลายมัดหมี่โบราณที่พบอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ทอกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ โดยจังหวัดมหาสารคามได้ยกย่องให้เป็นลายผ้าประจำจังหวัด เนื่องจากครั้งหนึ่งได้มีการประกวดการทอผ้าไหม แล้วผ้าไหมที่ชนะเลิศเป็นลายสร้อยดอกหมาก ยิ่งทำให้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากของจังหวัดมหาสารคามมีชื่อเสียงมากขึ้น

เนื่องจากเป็นลายที่ทอยาก และใช้กรรมวิธีทอที่ซับซ้อน เส้นไหมแต่ละเส้นต้องมีเส้นเล้ก และสม่ำเสมอ แค่กาารมัดหมี่เส้นไหมก็ใช้เวลา 4-5 วัน ทำให้เกือบสูญหายไป ใครที่ต้องการสะสมงานผ้าที่มีลวดลายโบราณควรเก็บผ้าลายสร้อยดอกหมากไว้สักผืน เพื่อช่วยอนุรักษ์งานของชาวบ้านไว้

10. ผ้าไหมยกดอก จังหวัดลำพูน

ผ้าไหมยกดอกลำพูนไหมไทย ชนิด ยกใหญ่ ภาพจากร้าน ลำพูนไหมไทย Lamphun Thai Silk – ผ้าไหมยกดอกลำพูน

ผ้าไหมยกดอก จังหวัดลำพูน ถือเป็นผ้าไหมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง  โดยมีประวัติจากสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระธิดาเจ้าครองนครเชียงใหม่ ได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับเชียงใหม่ เพื่อประทับกับครอบครัว และได้นำความรู้ด้านการทอผ้าไหมที่ทรงได้เรียนจากในพระราชวัง กลับไปสอนคนในคุ้มเชียงใหม่ รวมถึงได้ถ่ายทอดวิชาการทอผ้าไหมยกดอกให้กับพระญาติ ซึ่งเป็นพระราชชายาเจ้านครลำพูนในขณะนั้น ภายหลังผ้าไหมยกดอกลำพูน ก็ได้แพร่หลาย ชาวบ้านทอได้ด้วยกี่พื้นบ้าน มีความสวยงาม มีลวดลายวิจิตรบรรจง เป็นที่ต้องการของสตรีในวังและผผู้ที่ต้องการทั่วไป โดยลวดลายส่วนใหญ่เป็นดอกพิกุล ปัจจุบันมีการบันทึกลวดลายไว้บนกระดาษกราฟ ไม่ให้สูญหาย ยังมีการทอมมาจนถึงปัจจุบันนี้ และเป็นผ้าไหมไทย ราคาสูงที่ข้าราชการ และผู้มีฐานะเลือกสวมใส่ในงานพิธีสำคัญ โดยมีราคาสูงถึงผืนละหลักหมื่นเลยทีเดียว ผู้ที่สนใจการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน สามารถเข้าไปเยี่ยมชมวิธีการทอได้ที่ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน Lamphun Thai Silk Learning Center 

เนื่องจากกระบวนการทอผ้าไหมนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อน บางผืนใช้เวลากว่า 3 เดือน และภูมิปัญญาของชาวไทยสามารถทำได้ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงหนอนไหม จึงควบคุมคุณภาพของเส้นไหมได้ ทำให้เส้นไหมไทยเป็นที่ต้องการของตลาด และเพื่อการันตีเส้นไหมไทยของแท้ จึงได้มีการกำหนดโลโก้ ใช้สัญลักษณ์ “ตรานกยูง” เพื่อบ่งบอกที่มา และกำหนดมาตรฐานเส้นไหมไทยขึ้น ผู้ที่ซื้อผ้าไหมตรานกยูงจึงมั่นใจได้ว่าเป็นผ้าไหมไทยแท้

ผ้าไหมไทยของแท้ ดูอย่างไร

ผ้าไหมของประเทศไทย ถือว่าเป็นผ้าที่มีชื่อเสียง เป็นสินค้าส่งออกที่มีราคา เนื่องจากมีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของเส้นไหม รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานสากลของสินค้าเส้นไหมไทย โดยใช้ตรานกยูง 4 แบบเพื่อกำกับคุณภาพของเส้นไหม การได้รับตราทั้ง 4 แบบ ถือเป็นการการันตีว่าเป็นผ้าไหมที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

1. นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk)

ผ้าไหมที่ได้รับตรานกยูงสีทอง เป็นผ้าไหมที่ผลิตจากกรรมวิธีพื้นบ้านดั้งเดิม ตั้งแต่กรรมวิธีเลี้ยงไหม และใช้เส้นไหมพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมผ่านการสาวไหมด้วยมือ เส้นไหมผ่านการย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  

2. นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk)

ผ้าไหมที่ได้รับตรานกยูงสีเงิน เป็นผ้าไหมที่ได้จากการทอเส้นไหมที่มีเครื่องมือ เครื่องจักรช่วยในบ้างขั้นตอน อุปกรณ์ที่ใช้ต้องขับเคลื่อนไม่เกิน 5 แรงม้า และการทอต้องทอด้วยกี่ทอมือ หรือกี่กระตุก

3. นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk)

ผ้าไหมที่ได้รับตรานกยูงสีน้ำเงิน เป็นผ้าไหมที่ผ่านกรรมวิธีการทอเชิงธุรกิจ ให้เข้ากับสมัยนิยม ใช้เส้นไหมแท้ทั้งเส้นพุ่ง และเส้นยืน ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กี่ที่ใช้ทอ ใช้กี่แบบใดก็ได้

4. นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend)

ผ้าไหมที่ได้รับตรานกยูงสีเขียว เป็นผ้าไหมที่ทอด้วยวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้เส้นไหมธรรมชาติร่วมกับเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยระบุส่วนประกอบที่ชัดเจน ทอด้วยกี่ชนิดใดก็ได้

ทำไม “ผ้าไหมไทยแท้” จึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าของฝากที่มีราคาสูง ชาวต่างชาตินิยมซื้อติดมือเป็นของฝากกัน ใครได้รับก็ชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ชื่นชอบการสวมใส่ผ้าที่สวยงาม ใส่สบาย ก็นิยมสั่งผ้าไหมไทยไปตัดชุดกัน ผ้าไหมไทย มีความแตกต่างจากผ้าไหมของที่อื่น ดังนี้

1. เส้นไหมแน่น

เส้นไหมเป็นสารที่หนอนไหมพ่นออกมาจากตัวไหมขณะเป็นดักแด้ การเลี้ยงไหมในไทยจึงต้องเอาใจใส่ตั้งแต่กระบวนการเลือกอาหารให้ไหม และการควบคุมโรคพืชหม่อน และโรคหนอนไหม ช่วยให้หนอนไหมสร้างโปรตีนที่มีคุณภาพ เมื่อสาวไหมแล้วแน่น ทนทาน ยึดเกาะกันเป็นเกลียว

2. สะท้อนแสง เลื่อมมัน สวยงาม

เมื่อมีการเลี้ยงไหมที่มีคุณภาพ ทำให้เส้นไหมที่เลี้ยงในไทย เมื่อทอเป็นผ้าไหมแล้ว ก็จะได้ผ้าไหมสวยๆ เหลื่อมเป็นประกาย เงางาม

3. ย้อมสีติดง่าย

ภูมิปัญญาการเลี้ยงไหมเพื่อทอในประเทศไทยในภูมิภาคต่างๆ เพื่อย้อมสีธรรมชาติ ทำให้สีของเส้นไหมสีขาว สามารถติดสีได้ดี ทั้งสีธรรมชาติ และเคมี ปัจจุบันนี้เมื่อมีการตีตรามาตรฐานเส้นไหมไทยให้เป็นสากล จึงทำให้เส้นไหมไทยสีขาว เป็นที่นิยมของท้องตลาด และถ้าหากใครที่ต้องการสะสมผ้าไหมไทยแท้ จากร้านค้าต่างๆ ก็สังเกตสัญลักษณ์ตรานกยูงทั้ง 4 แบบ หรือเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ ก็ลองไปเยี่ยมชมแหล่งทอผ้าของชุมชน เพื่อช่วยกันรักษาอนุรักษ์ผ้าไหมไทยสวยๆ และได้ของแท้อีกด้วย

ภาพจากเรื่อง “ผ้าไหมมัดหมี่” เว็บไซต์กรมศิลปากร และภาพจากหนังสืองานศิลปหัตถกรรมประเภท ผ้าซิ่นตีนแดง., เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ องค์การมหาชน., 

ที่มา : 

1. นางสุพัชรี ฉันทเลิศวิทยา บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ., https://finearts.go.th/main/view/34868-%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88?type1=1

2. ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท., ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม., สำนักอนุรักษณ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์., https://qsds.go.th/silkcotton/k_8.php

3. ภูมิปัญญาด้านผ้า และการแต่งกาย., https://www2.m-culture.go.th/khonkaen/download/article/article_20220412122307.pdf4. งานศิลปหัตถกรรมประเภท ผ้าซิ่นตีนแดง., เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ องค์การมหาชน., https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/8a20d7c7b4ca634d08739cf614e6063c/_54a43314d5ceb2e370e1b31a2a9618dc.pdf

tag : ผ้าไหมจังหวัดไหนดีที่สุด,ผ้าไหมไทย มีอะไรบ้าง,ผ้าไหมไทย ราคา,ผ้าไหมไทยสวยๆ,ผ้าไหมไทยแท้,ผ้าไหมไทย ประวัติ,ผ้าไหมไทยแท้,ผ้าไหมมีกี่ประเภท,ผ้าไหมไทย,ผ้ามัดหมี่,ผ้าไหมชนบท,ผ้ากาบบัว,ผ้าซิ่น

Read More :

Leave a comment

Trending